วันเสาร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2552

การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบกลุ่ม

1. แบบ Jigsaw

ขั้นที่ 1 : ครูแบ่งหัวข้อที่จะเรียนเป็นหัวข้อย่อยๆ ให้เท่ากับจำนวนสมาชิกในกลุ่ม

ขั้นที่ 2 : จัดกลุ่มนักเรียนโดยให้มีความสามารถคละกันภายในกลุ่มเป็น

Home Groups กลุ่มละ 3-4 คน สมาชิกแต่ละคนในกลุ่มอ่านเฉพาะหัวข้อย่อยที่ตน ได้รับมอบหมายเท่านั้น เช่น
นักเรียน A1 อ่านเฉพาะหัวข้อย่อยที่ 1
นักเรียน A2 อ่านเฉพาะหัวข้อย่อยที่ 2
นักเรียน A3 อ่านเฉพาะหัวข้อย่อยที่ 3
นักเรียน A4 อ่านเฉพาะหัวข้อย่อยที่ 4

ขั้นที่ 3 : Expert Groups นักเรียนที่อ่านหัวข้อย่อยเดียวกันมานั่งด้วยกันเพื่อทำงาน ซักถาม และทำกิจกรรมกลุ่ม Expert Groups ตัวอย่าง
คนที่ 1 อ่านโจทย์
คนที่ 2 จดบันทึกข้อมูลสำคัญที่โจทย์กำหนดให้ อธิบายว่าโจทย์ ต้องการให้อะไร
คนที่ 3 คำนวณหาคำตอบ
คนที่ 4 สรุปทบทวนขั้นตอนทั้งหมด ตรวจสอบคำตอบอีกครั้ง

เมื่อนักเรียนทำแต่ละข้อเสร็จแล้ว ให้นักเรียนหมุนเวียนเปลี่ยนหน้าที่กัน แล้วทำโจทย์ข้อถัดไปจนครบทุกข้อ


2. แบบ Teams-Games-Tournaments (TGT)

ขั้นที่ 1 : ครูทบทวนบทเรียนที่เรียนมาแล้วครั้งก่อนด้วยการซักถามและอธิบายตอบข้อสงสัยของนักเรียน
ขั้นที่ 2 : จัดกลุ่มแบบคละกัน (Home Teams) กลุ่มละ 3-4 คน
ขั้นที่ 3 : แต่ละทีม ศึกษาหัวข้อที่เรียนจากแบบฝึก (Work Sheet and Answer Sheet) นักเรียนแต่ละคนทำหน้าที่และปฏิบัติตามกติกาของ Cooperative Learning เช่น เป็นผู้จดบันทึก ผู้คำนวณ ผู้สนับสนุน เป็นต้น เมื่อสมาชิกทุกคน เข้าใจและสามารถทำแบบฝึกหัดได้ถูกต้องทุกข้อ ทีมจะเริ่มทำการแข่งขันตอบปัญหา
ขั้นที่ 4 : การแข่งขันตอบปัญหา (Academic Games Tournament)
4.1 ครูเป็นผู้จัดกลุ่มใหม่ แบ่งตามความสามารถของนักเรียน เช่น โต๊ะที่ 1 แข่งขันนักเรียนในกลุ่มเก่ง โต๊ะที่ 2 และ 3 แข่งขันนักเรียนในกลุ่มปานกลาง โต๊ะที่ 4 แข่งขันนักเรียนในกลุ่มอ่อน
4.2 ครูแจกคำถามนักเรียน จำนวน 10 คำถามให้ทุกโต๊ะ (เป็นคำถามเหมือนกันทุกโต๊ะ)
4.3 นักเรียนเปลี่ยนกันหยิบซองคำถามทีละ 1 ซอง (1 คำถาม) อ่านคำถามแล้ววางลงกลางโต๊ะ
4.4 นักเรียน 3 คนที่เหลือ คำนวณหาคำตอบ จากคำถามที่อ่านในข้อ 4.3 เขียนคำถามลงในกระดาษคำตอบที่แต่ละคนมีอยู่
4.5 นักเรียนที่ทำหน้าที่อ่านคำถามจะเป็นคนให้คะแนนโดยมีกติกาให้คะแนน ดังนี้
- ผู้ตอบถูกคนแรก จะได้ 2 คะแนน
- ผู้ตอบถูกคนต่อไป จะได้คนละ 1 คะแนน
- ถ้าตอบผิด ให้ 0 คะแนน
4.6 ทำขั้นตอน 4.3-4.5 โดยผลัดกันอ่านคำถามจนกว่าคำถามจะหมด
4.7 นักเรียนทุกคนรวมคะแนนของตัวเอง โดยทุกคนควรได้ตอบคำถามเท่า ๆ กัน จัดลำดับของคะแนนที่ได้ ซึ่งกำหนดโบนัสของแต่ละโต๊ะ ดังนี้
โบนัส
ผู้ให้คะแนนชุดที่ 1 ประจำโต๊ะแต่ละโต๊ะ จะได้โบนัส 10 แต้ม
ผู้ให้คะแนนชุดที่ 2 ประจำโต๊ะแต่ละโต๊ะ จะได้โบนัส 8 แต้ม
ผู้ให้คะแนนชุดที่ 3 ประจำโต๊ะแต่ละโต๊ะ จะได้โบนัส 6 แต้ม
ผู้ให้คะแนนน้อยที่สุด ประจำโต๊ะแต่ละโต๊ะ จะได้โบนัส 4 แต้ม
ขั้นที่ 5 : นักเรียนกลับมากลุ่มเดิม (Homes Team) รวมแต้มโบนัสของทุกคน ทีมใดที่มีแต้มโบนัสสูงสุด จะให้รางวัลหรือติดประกาศไว้ในมุมข่าวของห้อง


3. แบบ Student Teams-Achievement Division (STAD)

ขั้นที่ 1-3 : มีลักษณะเหมือนกับแบบ TGT คือ
- จัดนักเรียนเป็นกลุ่มเล็กๆ แบบคละกัน กลุ่มละ 3-4 คน
- ใช้แบบฝึกหัด (worksheet) ชุดเดียวกับ TGT

ขั้นที่ 4 : สำหรับ STAD นักเรียนแต่ละคนจะทำการทดสอบแทนการแข่งขันตอบปัญหา
ขั้นที่ 5 : ทีมที่ได้คะแนนสูงสุดจากการทดสอบจะติดประกาศไว้ในมุมจดหมายข่าวของห้อง


4. แบบ Teams-Assisted Individualization (TAI)

ขั้นที่ 1 : จัดนักเรียนเป็นกลุ่มเล็กๆ แบบคละกัน กลุ่มละ 2-4 คน
ขั้นที่ 2 : ครูอธิบายทบทวนบทเรียนที่เรียนมาแล้ว และให้นักเรียนแต่ละคนทำแบบฝึกหัดที่ 1 (worksheet No.1) ที่ครูเตรียมไว้แล้ว
ขั้นที่ 3 : ให้นักเรียนจับคู่กันภายในกลุ่มของตนเอง
- แลกเปลี่ยนแบบฝึกหัดที่ 1 เพื่อตรวจสอบ อธิบายข้อสงสัย
- ถ้านักเรียนคู่ใดทำแบบฝึกหัดได้ถูกต้อง 75% ขึ้นไปให้ทำแบบฝึกหัดที่ 2 (worksheet No.2)
- ถ้านักเรียนคนใดคนหนึ่งหรือทั้งคู่ ทำแบบฝึกหัดที่ 1 ได้ แต่น้อยกว่า 75% ให้นักเรียนทั้งคู่ทำแบบฝึกหัดชุดที่ 3 หรือ 4 จนกว่าจะทำได้ถูกต้อง 75% ขึ้นไปจึงจะผ่าน
ขั้นที่ 4 : นักเรียนทุกคนทำการทดสอบ คะแนนที่ได้จากการทดสอบของนักเรียน แต่ละคนจะนำมารวมกันเป็นคะแนนกลุ่มหรือใช้คะแนนเฉลี่ย ในกรณีที่สมาชิกในกลุ่มมีจำนวนไม่เท่ากัน
ขั้นที่ 5 : กลุ่มที่ได้คะแนนสูงสุดจะติดประกาศไว้ที่มุมข่าวหน้าห้อง


5. แบบ Learning Together (LT)

วิธีนี้เป็นวิธีที่เหมาะสมกับการสอนเรื่อง รูปทรงเลขาคณิตหรือการทำงานที่มีการทำ การทดลองมาเกี่ยวข้อง โดยมีขั้นตอน ดังนี้
ขั้นที่ 1 : ครูและนักเรียน อภิปรายและสรุปเนื้อหา
ขั้นที่ 2 : แบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มคละกัน กลุ่มละ 4-5 คน ครูแจกใบงานกลุ่มละ 1 แผ่น (ถ้ามีอุปกรณ์ไม่พอ ให้นักเรียนใช้ระบบการเวียนฐาน)
ขั้นที่ 3 : แบ่งหน้าที่ของนักเรียนแต่ละคนในกลุ่ม ดังนี้
คนที่ 1 : อ่านโจทย์หรือคำสั่งให้ดำเนินงาน
คนที่ 2 : ฟังโจทย์ ดำเนินงานและจดบันทึกข้อมูล
คนที่ 3 : อ่านคำถามและหาคำตอบ
คนที่ 4 : ตรวจคำตอบ (ข้อมูล)
ขั้นที่ 4 : แต่ละกลุ่มส่งกระดาษคำตอบเพียงแผ่นเดียว นับเป็นกิจกรรมที่สำเร็จ
- แต่ละกลุ่มส่งงาน 1 ชิ้น ผลงานที่เสร็จแล้วเป็นผลงานที่ทุกคนยอมรับ ซึ่งทุกคนในกลุ่มได้คะแนนเท่ากัน
- กำหนดเกณฑ์การตัดสินหรือเกณฑ์การให้คะแนน เพราะนักเรียนจะเป็นผู้ให้คะแนน ถ้ามีปัญหาครูจึงให้คำแนะนำ
ขั้นที่ 5 : ปิดประกาศชมเชยกลุ่มที่ได้คะแนนสูงสุด

6. Group Investigation (GI)
ขั้นที่ 1 : ครูและนักเรียนร่วมกันอภิปราย ทบทวนบทเรียนที่สอน
ขั้นที่ 2 : แบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มๆ ละ 2 – 4 คน แบ่งเรื่องที่สอนเป็นข้อย่อยแต่ละหัวข้อจะเป็นใบงานที่ 1 ใบงานที่ 2 ใบงานที่ 3 เป็นต้น
ขั้นที่ 3: ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มเลือกทำเพียงหัวข้อเดียว (ใบงานเพียงใบเดียว)โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนที่เรียนอ่อนเลือกหัวข้อก่อนการทำใบงาน อาจจะให้นักเรียนในกลุ่มแบ่งกันหาคำตอบ และนำคำตอบทั้งหมดมารวมเป็นคำตอบที่สมบูรณ์
ขั้นที่ 4 : นักเรียนแต่ละกลุ่มร่วมกันอภิปรายเรื่องจากใบงานที่ได้จนเป็นที่เข้าใจของทุกคนในกลุ่ม
ขั้นที่ 5 : ให้แต่ละกลุ่มรายงานผลเริ่มตั้งแต่กลุ่มที่ทำจากใบงานที่ 1 จนถึงใบงานสุดท้าย โดยให้คำชมเชยและรางวัลแก่กลุ่มที่ถูกต้องที่สุด


หมายเหตุ การสอนแบบ Cooperative Learning ควรเริ่มวิธีสอนแบบ Team Assisted Individualization (TAI) ไม่ควรเริ่มวิธีสอนแบบ Jigsaw

ไม่มีความคิดเห็น: