วันเสาร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2552

การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบกลุ่ม

1. แบบ Jigsaw

ขั้นที่ 1 : ครูแบ่งหัวข้อที่จะเรียนเป็นหัวข้อย่อยๆ ให้เท่ากับจำนวนสมาชิกในกลุ่ม

ขั้นที่ 2 : จัดกลุ่มนักเรียนโดยให้มีความสามารถคละกันภายในกลุ่มเป็น

Home Groups กลุ่มละ 3-4 คน สมาชิกแต่ละคนในกลุ่มอ่านเฉพาะหัวข้อย่อยที่ตน ได้รับมอบหมายเท่านั้น เช่น
นักเรียน A1 อ่านเฉพาะหัวข้อย่อยที่ 1
นักเรียน A2 อ่านเฉพาะหัวข้อย่อยที่ 2
นักเรียน A3 อ่านเฉพาะหัวข้อย่อยที่ 3
นักเรียน A4 อ่านเฉพาะหัวข้อย่อยที่ 4

ขั้นที่ 3 : Expert Groups นักเรียนที่อ่านหัวข้อย่อยเดียวกันมานั่งด้วยกันเพื่อทำงาน ซักถาม และทำกิจกรรมกลุ่ม Expert Groups ตัวอย่าง
คนที่ 1 อ่านโจทย์
คนที่ 2 จดบันทึกข้อมูลสำคัญที่โจทย์กำหนดให้ อธิบายว่าโจทย์ ต้องการให้อะไร
คนที่ 3 คำนวณหาคำตอบ
คนที่ 4 สรุปทบทวนขั้นตอนทั้งหมด ตรวจสอบคำตอบอีกครั้ง

เมื่อนักเรียนทำแต่ละข้อเสร็จแล้ว ให้นักเรียนหมุนเวียนเปลี่ยนหน้าที่กัน แล้วทำโจทย์ข้อถัดไปจนครบทุกข้อ


2. แบบ Teams-Games-Tournaments (TGT)

ขั้นที่ 1 : ครูทบทวนบทเรียนที่เรียนมาแล้วครั้งก่อนด้วยการซักถามและอธิบายตอบข้อสงสัยของนักเรียน
ขั้นที่ 2 : จัดกลุ่มแบบคละกัน (Home Teams) กลุ่มละ 3-4 คน
ขั้นที่ 3 : แต่ละทีม ศึกษาหัวข้อที่เรียนจากแบบฝึก (Work Sheet and Answer Sheet) นักเรียนแต่ละคนทำหน้าที่และปฏิบัติตามกติกาของ Cooperative Learning เช่น เป็นผู้จดบันทึก ผู้คำนวณ ผู้สนับสนุน เป็นต้น เมื่อสมาชิกทุกคน เข้าใจและสามารถทำแบบฝึกหัดได้ถูกต้องทุกข้อ ทีมจะเริ่มทำการแข่งขันตอบปัญหา
ขั้นที่ 4 : การแข่งขันตอบปัญหา (Academic Games Tournament)
4.1 ครูเป็นผู้จัดกลุ่มใหม่ แบ่งตามความสามารถของนักเรียน เช่น โต๊ะที่ 1 แข่งขันนักเรียนในกลุ่มเก่ง โต๊ะที่ 2 และ 3 แข่งขันนักเรียนในกลุ่มปานกลาง โต๊ะที่ 4 แข่งขันนักเรียนในกลุ่มอ่อน
4.2 ครูแจกคำถามนักเรียน จำนวน 10 คำถามให้ทุกโต๊ะ (เป็นคำถามเหมือนกันทุกโต๊ะ)
4.3 นักเรียนเปลี่ยนกันหยิบซองคำถามทีละ 1 ซอง (1 คำถาม) อ่านคำถามแล้ววางลงกลางโต๊ะ
4.4 นักเรียน 3 คนที่เหลือ คำนวณหาคำตอบ จากคำถามที่อ่านในข้อ 4.3 เขียนคำถามลงในกระดาษคำตอบที่แต่ละคนมีอยู่
4.5 นักเรียนที่ทำหน้าที่อ่านคำถามจะเป็นคนให้คะแนนโดยมีกติกาให้คะแนน ดังนี้
- ผู้ตอบถูกคนแรก จะได้ 2 คะแนน
- ผู้ตอบถูกคนต่อไป จะได้คนละ 1 คะแนน
- ถ้าตอบผิด ให้ 0 คะแนน
4.6 ทำขั้นตอน 4.3-4.5 โดยผลัดกันอ่านคำถามจนกว่าคำถามจะหมด
4.7 นักเรียนทุกคนรวมคะแนนของตัวเอง โดยทุกคนควรได้ตอบคำถามเท่า ๆ กัน จัดลำดับของคะแนนที่ได้ ซึ่งกำหนดโบนัสของแต่ละโต๊ะ ดังนี้
โบนัส
ผู้ให้คะแนนชุดที่ 1 ประจำโต๊ะแต่ละโต๊ะ จะได้โบนัส 10 แต้ม
ผู้ให้คะแนนชุดที่ 2 ประจำโต๊ะแต่ละโต๊ะ จะได้โบนัส 8 แต้ม
ผู้ให้คะแนนชุดที่ 3 ประจำโต๊ะแต่ละโต๊ะ จะได้โบนัส 6 แต้ม
ผู้ให้คะแนนน้อยที่สุด ประจำโต๊ะแต่ละโต๊ะ จะได้โบนัส 4 แต้ม
ขั้นที่ 5 : นักเรียนกลับมากลุ่มเดิม (Homes Team) รวมแต้มโบนัสของทุกคน ทีมใดที่มีแต้มโบนัสสูงสุด จะให้รางวัลหรือติดประกาศไว้ในมุมข่าวของห้อง


3. แบบ Student Teams-Achievement Division (STAD)

ขั้นที่ 1-3 : มีลักษณะเหมือนกับแบบ TGT คือ
- จัดนักเรียนเป็นกลุ่มเล็กๆ แบบคละกัน กลุ่มละ 3-4 คน
- ใช้แบบฝึกหัด (worksheet) ชุดเดียวกับ TGT

ขั้นที่ 4 : สำหรับ STAD นักเรียนแต่ละคนจะทำการทดสอบแทนการแข่งขันตอบปัญหา
ขั้นที่ 5 : ทีมที่ได้คะแนนสูงสุดจากการทดสอบจะติดประกาศไว้ในมุมจดหมายข่าวของห้อง


4. แบบ Teams-Assisted Individualization (TAI)

ขั้นที่ 1 : จัดนักเรียนเป็นกลุ่มเล็กๆ แบบคละกัน กลุ่มละ 2-4 คน
ขั้นที่ 2 : ครูอธิบายทบทวนบทเรียนที่เรียนมาแล้ว และให้นักเรียนแต่ละคนทำแบบฝึกหัดที่ 1 (worksheet No.1) ที่ครูเตรียมไว้แล้ว
ขั้นที่ 3 : ให้นักเรียนจับคู่กันภายในกลุ่มของตนเอง
- แลกเปลี่ยนแบบฝึกหัดที่ 1 เพื่อตรวจสอบ อธิบายข้อสงสัย
- ถ้านักเรียนคู่ใดทำแบบฝึกหัดได้ถูกต้อง 75% ขึ้นไปให้ทำแบบฝึกหัดที่ 2 (worksheet No.2)
- ถ้านักเรียนคนใดคนหนึ่งหรือทั้งคู่ ทำแบบฝึกหัดที่ 1 ได้ แต่น้อยกว่า 75% ให้นักเรียนทั้งคู่ทำแบบฝึกหัดชุดที่ 3 หรือ 4 จนกว่าจะทำได้ถูกต้อง 75% ขึ้นไปจึงจะผ่าน
ขั้นที่ 4 : นักเรียนทุกคนทำการทดสอบ คะแนนที่ได้จากการทดสอบของนักเรียน แต่ละคนจะนำมารวมกันเป็นคะแนนกลุ่มหรือใช้คะแนนเฉลี่ย ในกรณีที่สมาชิกในกลุ่มมีจำนวนไม่เท่ากัน
ขั้นที่ 5 : กลุ่มที่ได้คะแนนสูงสุดจะติดประกาศไว้ที่มุมข่าวหน้าห้อง


5. แบบ Learning Together (LT)

วิธีนี้เป็นวิธีที่เหมาะสมกับการสอนเรื่อง รูปทรงเลขาคณิตหรือการทำงานที่มีการทำ การทดลองมาเกี่ยวข้อง โดยมีขั้นตอน ดังนี้
ขั้นที่ 1 : ครูและนักเรียน อภิปรายและสรุปเนื้อหา
ขั้นที่ 2 : แบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มคละกัน กลุ่มละ 4-5 คน ครูแจกใบงานกลุ่มละ 1 แผ่น (ถ้ามีอุปกรณ์ไม่พอ ให้นักเรียนใช้ระบบการเวียนฐาน)
ขั้นที่ 3 : แบ่งหน้าที่ของนักเรียนแต่ละคนในกลุ่ม ดังนี้
คนที่ 1 : อ่านโจทย์หรือคำสั่งให้ดำเนินงาน
คนที่ 2 : ฟังโจทย์ ดำเนินงานและจดบันทึกข้อมูล
คนที่ 3 : อ่านคำถามและหาคำตอบ
คนที่ 4 : ตรวจคำตอบ (ข้อมูล)
ขั้นที่ 4 : แต่ละกลุ่มส่งกระดาษคำตอบเพียงแผ่นเดียว นับเป็นกิจกรรมที่สำเร็จ
- แต่ละกลุ่มส่งงาน 1 ชิ้น ผลงานที่เสร็จแล้วเป็นผลงานที่ทุกคนยอมรับ ซึ่งทุกคนในกลุ่มได้คะแนนเท่ากัน
- กำหนดเกณฑ์การตัดสินหรือเกณฑ์การให้คะแนน เพราะนักเรียนจะเป็นผู้ให้คะแนน ถ้ามีปัญหาครูจึงให้คำแนะนำ
ขั้นที่ 5 : ปิดประกาศชมเชยกลุ่มที่ได้คะแนนสูงสุด

6. Group Investigation (GI)
ขั้นที่ 1 : ครูและนักเรียนร่วมกันอภิปราย ทบทวนบทเรียนที่สอน
ขั้นที่ 2 : แบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มๆ ละ 2 – 4 คน แบ่งเรื่องที่สอนเป็นข้อย่อยแต่ละหัวข้อจะเป็นใบงานที่ 1 ใบงานที่ 2 ใบงานที่ 3 เป็นต้น
ขั้นที่ 3: ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มเลือกทำเพียงหัวข้อเดียว (ใบงานเพียงใบเดียว)โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนที่เรียนอ่อนเลือกหัวข้อก่อนการทำใบงาน อาจจะให้นักเรียนในกลุ่มแบ่งกันหาคำตอบ และนำคำตอบทั้งหมดมารวมเป็นคำตอบที่สมบูรณ์
ขั้นที่ 4 : นักเรียนแต่ละกลุ่มร่วมกันอภิปรายเรื่องจากใบงานที่ได้จนเป็นที่เข้าใจของทุกคนในกลุ่ม
ขั้นที่ 5 : ให้แต่ละกลุ่มรายงานผลเริ่มตั้งแต่กลุ่มที่ทำจากใบงานที่ 1 จนถึงใบงานสุดท้าย โดยให้คำชมเชยและรางวัลแก่กลุ่มที่ถูกต้องที่สุด


หมายเหตุ การสอนแบบ Cooperative Learning ควรเริ่มวิธีสอนแบบ Team Assisted Individualization (TAI) ไม่ควรเริ่มวิธีสอนแบบ Jigsaw

การสอนแบบ 4 MAT System

การสอนแบบ 4 MAT System
หมายถึงกระบวนการเรียนการสอนที่คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลในเรื่องรูปแบบการเรียนรู้ โดยจัดแบ่งช่วงเวลาการเรียนให้เหมาะสมกับรูปแบบการเรียนรู้ของผู้เรียนในแต่ละเรื่อง ยึดหลักการจัดประสบการณ์ที่หลากหลาย ยืดหยุ่นและเชื่อมโยงกันอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองผู้เรียนทุกแบบการเรียนให้มีโอกาสได้เรียนรู้ ได้ปฏิบัติกิจกรรมที่ตนชอบและได้ปรับตัวเรียนรู้ในแบบการเรียนอื่น ๆ ด้วย และมีการจัดประสบการณ์ที่ช่วยกระตุ้นการพัฒนาสมองซีกซ้ายและซีกขวาเพื่อให้สมองทั้งสองซีกมีพัฒนาการที่สมดุล ซึ่งมีการจัดกิจกรรมการเรียนตามขั้นตอนของ McCarthy ดังนี้

1. การบูรณาการประสบการณ์ด้วยตนเอง (Why)
ขั้นที่ 1 สร้างประสบการณ์ (สมองซีกขวา) ครูสร้างประสบการณ์ด้วยการกระตุ้นหรือสร้างแรงจูงใจ ให้ผู้เรียนเชื่อมโยงประสบการณ์เป็นของตนเอง
ขั้นที่ 2 วิเคราะห์ประสบการณ์ (สมองซีกซ้าย) ครูให้ผู้เรียนสะท้อนความคิดจากประสบการณ์และตรวจสอบประสบการณ์


2.การพัฒนาความคิดรวบยอด (What)
ขั้นที่ 3 บรูณาการการสังเกตไปสู่ความคิดรวบยอด (สมองซีกขวา) ครูให้ข้อมูลข้อ
เท็จจริง และจัดกิจกรรมไปสู่ความคิดรวบยอด ผู้เรียนบูรณาการประสบการณ์และความรู้ไปสู่ความคิดรวบยอด
ขั้นที่ 4 พัฒนาความคิดรวบยอด (สมองซีกซ้าย) ครูให้ผู้เรียนได้รับข้อมูลหรือข้อเท็จจริงตามทฤษฎีหรือความคิดราบยอด ให้ผู้เรียนวิเคราะห์และไตร่ตรองประสบการณ์



3.การปฏิบัติและปรับแต่งเป็นแนวคิดของตนเอง (How)
ขั้นที่ 5 ปฏิบัติและปรับแต่งเป็นแนวคิดของตนเอง (สมองซีกซ้าย) ผู้เรียนลอง
ปฏิบัติโดยผ่านประสาทสัมผัส เพื่อพัฒนาแนวคิดและทักษะ
ขั้นที่ 6 ปรับแต่งเป็นแนวคิดของตนเอง (สมองซีกขวา) ผู้เรียนปรับปรุงสิ่งที่ปฎิบัติด้วยวิธีการของตนเอง และบูรณาการเป็นองค์ความรู้ของตนเอง



4.การบรูณาการและการประยุกต์ประสบการณ์
ขั้นที่ 7 วิเคราะตห์เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ (สมองซีกซ้าย) ผู้เรียนวิเคราะห์แล้ววางแผน
เพื่อประยุกต์หรือดัดแปลงสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้ประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น
ขั้นที่ 8 แลกเปลี่ยนความรู้ของตนกับผู้อื่น (สมองซีกขวา) ผู้เรียนแลกเปลี่ยนสิ่งที่
ได้เรียนรู้มากับผู้อื่น


5 .สื่อการเรียนการสอน

6. การประเมินผล

การจัดการเรียนรู้ แบบ 4MAT หรือ วัฏจักรแห่งการเรียนรู้ (4 Mat)

การสอนแบบ 4 MAT System เป็นการสอนในรูปแบบที่เริ่มมีคนใช้มากขึ้นเพราะความสะดวก ง่ายต่อความเข้าใจของครูมากกว่าทฤษฎีใดๆ ที่สำคัญคือ เป็นวิธีที่ผสมผสานกับกลยุทธ์อื่นได้เป็นอย่างดี เช่น อาจนำวิธีนี้กับการเรียนแบบสหร่วมใจ (Cooperative Learning) หรือแบบอื่นได้ด้วย ความไม่ยุ่งยากซับซ้อนและประสิทธิภาพของวิธีการสอนเช่นนี้ ทำให้เริ่มมีการวิจัยเพิ่มขึ้น มีบทความ หนังสือต่างๆ มากมายกล่าวถึงการเรียนการสอนแบบนี้มากขึ้น จนในขณะนี้นักการศึกษาสำหรับเด็กปัญญาเลิศและนักการศึกษาทั่วไปรู้จักและเข้าใจมากขึ้น

การจัดการเรียนรู้ แบบ 4MAT หรือวัฏจักรแห่งการเรียนรู้ (4 Mat) สร้างขึ้นโดยใช้วงกลมเป็นสัญลักษณ์แทนการเคลื่อนไหวของกิจกรรมการเรียนรู้ พื้นที่ของวงกลม ถูกแบ่งออกโดยเส้นแห่งการเรียนรู้ และเส้นแห่งกระบวนการจัดข้อมูลรับรู้เป็น 4 ส่วนกำหนดให้แต่ละส่วนใช้แทนกิจกรรม การจัดการเรียนรู้ 4 ลักษณะ โดยนิยามว่า

ส่วนที่ 1 คือ บูรณาการประสบการณ์ให้เป็นส่วนหนึ่งของตน (Integrating Experience with the Self) ใช้คำถามที่เป็นคำถามนำกิจกรรม คือ ทำไม (Why?)

ส่วนที่ 2 คือ สร้างความคิดรวบยอด (Concept Formulation)) คำถามที่เป็นคำถามนำกิจกรรมประจำส่วนนี้คืออะไร(What?)

ส่วนที่ 3 คือ ปฏิบัติและเรียนรู้ตามลักษณะเฉพาะตัว (Practice and Personalization) คำถามที่เป็นคำถามนำกิจกรรมประจำส่วนนี้ คือ ทำอย่างไร (How does it work?)

ส่วนที่ 4 คือ บูรณาการการประยุกต์กับประสบการณ์ของตน (Integrating Application and Experience) คำถามที่เป็นคำถามนำกิจกรรมประจำส่วนนี้ คือ ถ้า (If) (กรมวิชาการ,2544) โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ช่วงที่ 1 แบบ Why ? การสร้างประสบการณ์เฉพาะของผู้เรียน
ขั้นที่ 1 (กระตุ้นสมองซีกขวา) สร้างประสบการณ์ตรงที่เป็นรูปธรรมแก่ผู้เรียน การเรียนรู้เกิดจากการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาสมองซีกขวา โดยครูสร้างประสบการณ์จำลอง ให้เชื่อมโยงกับความรู้และประสบการณ์เก่าของผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนสร้างเป็นความเหมายเฉพาะของตนเอง
ขั้นที่ 2 (กระตุ้นสมองซีกซ้าย) วิเคราะห์ไตร่ตรองประสบการณ์ การเรียนรู้เกิดจากการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาสมองซีกซ้าย โดยครูให้นักเรียนคิดไตร่ตรอง วิเคราะห์ประสบการณ์จำลองจากกิจกรรมขั้นที่ 1 ในช่วงที่ 1 นี้ครูต้องสร้างบรรยากาศให้นักเรียนเกิดความใฝ่รู้ และกระตือรือร้นในการหาประสบการณ์ใหม่อย่างมีเหตุผล และแสวงหาความหมายด้วยตนเอง ฉะนั้น ครูต้องใช้ความพยายามสรรหากิจกรรมเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ดังกล่าว

ช่วงที่ 2 แบบ What ? การพัฒนาความคิดรวบยอดของผู้เรียน
ขั้นที่ 3 (กระตุ้นสมองซีกขวา) สะท้อนประสบการณ์เป็นแนวคิด การเรียนรู้เกิดจากการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาสมองซีกขวา โดยครูกระตุ้นให้ผู้เรียนได้รวบรวมประสบการณ์และความรู้เพื่อสร้างความเข้าใจพื้นฐานของแนวคิด หรือความคิดรวบยอดอย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง เช่น การสอนให้ผู้เรียนเข้าใจลึกซึ้งถึงแนวคิดของการใช้อักษรตัวใหญ่ในภาษาอังกฤษ ครูต้องหาวิธีอธิบายให้ผู้เรียนเข้าใจอย่างแจ้งชัด ว่าอักษรตัวใหญ่ที่ใช้นำหน้าคำนามในภาษาอังกฤษ เพื่อเน้นถึงความสำคัญของคำนั้นๆ อาจยกตัวอย่าง เช่น ชื่อคน ชื่อเมือง หรือชื่อประเทศ เป็นต้น
ขั้นที่ 4 (กระตุ้นสมองซีกซ้าย) พัฒนาทฤษฎีและแนวคิด การเรียนรู้เกิดจากการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาสมองซีกซ้าย ครูให้นักเรียนวิเคราะห์และไตร่ตรองแนวคิดที่ได้จากขั้นที่ 3 และถ่ายทอดเนื้อหาข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องกับแนวคิดที่ได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาแนวคิดนั้นๆ ต่อไป พยายามสร้างกิจกรรมกระตุ้นให้ผู้เรียนกระตือรือร้นในการเก็บรวบรวมข้อมูล และการศึกษาค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมในช่วงที่ 2 ครูต้องจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้คิด เพื่อให้ผู้เรียนที่ชอบการเรียนรู้โดยการลงมือปฏิบัติจริง สามารถปรับประสบการณ์และความรู้ สร้างเป็นความคิดรวบยอดในเชิงนามธรรม โดยฝึกให้ผู้เรียนคิดพิจารณาไตร่ตรองความรู้ที่เกี่ยวข้อง ในช่วงนี้เป็นการจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้ความรู้โดยการคิด และฝึกทักษะในการค้นคว้าหาความรู้

ช่วงที่ 3 แบบ How ? การปฏิบัติและการพัฒนาแนวคิดออกมาเป็นการกระทำ
ขั้นที่ 5 (กระตุ้นสมองซีกซ้าย) ดำเนินตามแนวคิด และลงมือปฏิบัติหรือทดลอง การเรียนรู้เกิดจากการจัดกิจกรรมพัฒนาสมองซีกซ้าย เช่นเดียวกับขั้นที่ 4 นักเรียนเรียนรู้จากการใช้สามัญสำนึก ซึ่งได้จากแนวคิดพื้นฐาน จากนั้นนำมาสร้างเป็นประสบการณ์ตรง เช่น การทดลองในห้องปฏิบัติการ หรือการทำแบบฝึกหัดเพื่อส่งเสริมความรู้ และได้ฝึกทักษะที่เรียนรู้มาในช่วงที่ 2
ขั้นที่ 6 (กระตุ้นสมองซีกขวา) ต่อเติมเสริมแต่ง และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้เกิดจากการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาสมองซีกขวา นักเรียนเรียนรู้ด้วยวิธีการลงมือปฏิบัติ แก้ปัญหา ค้นคว้า รวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในการศึกษาค้นพบองค์ความรู้ด้วยตนเองในช่วงที่ 3 ครูมีบทบาทเป็นผู้แนะนำ และอำนวยความสะดวก เพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ นอกจากนี้ครูควรเปิดโอกาสให้นักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนกิจกรรมการเรียนรู้

ช่วงที่ 4 แบบ If ? เชื่อมโยงการเรียนรู้จากการทดลองปฏิบัติด้วยตนเอง จนเกิดเป็นความรู้ที่ลุ่มลึก
ขั้นที่ 7 (กระตุ้นสมองซีกซ้าย) วิเคราะห์แนวทางที่จะนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ และเป็นแนวทางสำหรับการเรียนรู้เพิ่มเติมต่อไป การเรียนรู้เกิดจากการจัด กิจกรรมเพื่อพัฒนาสมองซีกซ้าย นักเรียนนำสิ่งที่เรียนรู้มาแล้วมาประยุกต์ใช้อย่างสร้างสรรค์ โดยนักเรียนเป็นผู้วิเคราะห์และเลือกทำกิจกรรมอย่างหลากหลาย
ขั้นที่ 8 (กระตุ้นสมองซีกขวา) ลงมือปฏิบัติ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การเรียนรู้เกิดจากการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาสมองซีกขวา นักเรียนคิดค้นความรู้ด้วยตนเองอย่างสลับซับซ้อนมากขึ้น เพื่อให้เกิดเป็นความคิดที่สร้างสรรค์ จากนั้นนำมาเสนอแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันในช่วงที่ 4 ครูมีบทบาทเป็นผู้ประเมินผลงานของนักเรียน และการกระตุ้นให้นักเรียนคิดสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ หลายคนอาจยังมองไม่เห็นภาพลำดับขั้นในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบ 4 MAT เพื่อความเป็นรูปธรรมชัดเจน ต่อไปจะยกตัวอย่างการจัดกิจกรรมการสอนในแบบดังกล่าวที่กระทำจริงในโรงเรียน เพื่อให้มองเห็นภาพการจัดกิจกรรมเด่นชัดยิ่งขึ้น

การจัดการเรียนการสอนแบบ 5 E

ขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ 5 E มีขั้นตอนการจัดกิจกรรม 5 ขั้นตอน คือ

1. ขั้นสร้างความสนใจ (engagement)
เป็นการนำเข้าสู่บทเรียนหรือเรื่องที่สนใจ อาจเกิดขึ้นจากความสงสัยหรือความสนใจในตัวนักเรียนเอง หรือเกิดจากการอภิปรายภายในกลุ่ม เรื่องที่น่าสนใจอาจมาจากเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น

2. ขั้นสำรวจและค้นหา (exploration)
เมื่อทำความเข้าใจในประเด็นหรือคำถามที่สนใจจะศึกษาอย่างถ่องแท้แล้ว ก็มีการวางแผนกำหนดแนวทางการสำรวจตรวจสอบ ตั้งสมมุติฐาน กำหนดทางเลือกที่เป็นไปได้ ลงมือปฏิบัติเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล ข้อสนเทศ หรือปรากฏการณ์ต่าง ๆ วิธีการตรวจสอบอาจทำได้หลายวิธี เช่นการทำการทดลอง ทำกิจกรรมภาคสนาม การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อช่วยสร้างสถานการณ์จำลอง การศึกษาหาข้อมูลจากเอกสารอ้างอิง หรือจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลอย่างเพียงพอที่จะใช้ในขั้นต่อไป

3. ขั้นอธิบายและลงข้อสรุป (explanation)
เมื่อได้ข้อมูลอย่างเพียงพอจากการสำรวจตรวจสอบแล้ว จึงนำข้อมูล ข้อสนเทศที่ได้มาวิเคราะห์ แปลผล สรุปผล และนำเสนอผลที่ได้ในรูปต่าง ๆ

4. ขั้นขยายความรู้(elaboration)
เป็นการนำความรู้ที่สร้างขึ้น ไปเชื่อมโยงกับความรู้เดิมหรือแนวคิดที่ได้ค้นคว้าเพิ่มเติมหรือนำแบบจำลองหรือข้อสรุปที่ได้ไปใช้อธิบายสถานการณ์หรือเหตุการณ์อื่น ๆ ทำให้เกิดความรู้กว้างขึ้น

5. ขั้นประเมิน(evaluation)
เป็นการประเมินการเรียนรู้ด้วยกระบวนการต่าง ๆ ว่านักเรียนมีความรู้อะไรบ้าง อย่างไร และมากน้อยเพียงใด จากขั้นนี้จะนำไปสู่การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในเรื่องอื่น ๆ

วันศุกร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2552

วิธีป้องกัน นักเรียนตีกัน

วิธี ป้องกันนักเรียน นักศึกษาตีกันต่อไปนี้อาจจะช่วยได้บ้าง ถ้าชอบหรือคิดว่าอาจป้องกันได้ก็ลองนำไปใช้ดู อาจจะดีกว่าปิดสถานศึกษา หรือตัดเงินกู้ยืมเรียนก็ได้

(1) ครู อาจารย์อย่าให้ท้ายนักเรียนนักศึกษา บางแห่งมีครู อาจารย์ที่เป็นศิษย์เก่าของสถาบันนั้นๆ มักจะยุยงส่งเสริมเด็กเกี่ยวกับเรื่องราวที่ไม่ดีที่ผ่านๆ มา จนทำให้สถาบันทั้งสองต้องเป็นศัตรูกันพบหน้ากันที่ไหนต้องมีเรื่องราวกัน บางครั้งเลยเถิดถึงตาย สอดคล้องกับผลการวิจัยที่ว่าการมีเรื่องกันเพราะเป็นประเพณีอย่างหนึ่งที่มี มานาน

(2) ระเบียบ วินัยของนักศึกษาของสถาบัน ครู อาจารย์ทุกคนควรมีหน้าที่รักษาและให้นักเรียนนักศึกษาปฏิบัติตามระเบียบ วินัยโดยเคร่งครัด มิใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มิฉะนั้นจะดูแลนักเรียนนักศึกษาได้ไม่ทั่วถึง เช่นปล่อยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายกิจการนักศึกษาแต่เพียงฝ่ายเดียว

(3) การคัดเลือกนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียน ควรมีมาตรการที่รอบคอบกว่านี้ในขั้นตอนของการสอบสัมภาษณ์ ไม่หมายความว่าไม่รับเด็กเข้าเรียน เพราะสถานศึกษาเป็นสถานที่กล่อมเกลาให้เด็กและเยาวชนเป็นคนดีอยู่แล้ว ในที่นี้หมายความว่าเด็กกลุ่มไหนควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ก็อาจจะจัดกิจกรรมให้เด็กได้ตามความต้องการได้มากยิ่งขึ้น

(4) จัดให้มีการไหว้ครูร่วมกันเพราะไหว้ครูช่างเหมือนกัน จะทำให้นักศึกษามีความสนิทสนมกันและรู้สึกว่าเป็นหน่วยเดียวกันมีครูที่ นับถือองค์เดียวกัน คือพระวิษณุกรรมเหมือนกัน

(5) จัดกิจกรรมรับน้องใหม่ และละลายพฤติกรรมของน้องด้วยกัน งานนี้แนะนำว่าควรจัดในค่ายทหาร ใช้เวลาประมาณสองวันหนึ่งคืน กางเต๊นท์นอน เวลานอนต้องจับคู่นอนสลับกัน เต๊นท์บุคคลนอนได้สองคน และต้องรู้รายละเอียดของคู่นอน ต้องช่วยกันทำทุกอย่างแล้วแต่จะจัดกิจกรรม

(6) จัดรุ่นพี่เป็นสารวัตรนักเรียนคอยดูรุ่นน้อง และคอยดูตรวจตรารุ่นน้องที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

(7) จัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ร่วมกัน ตามวัดและชุมชนต่างๆ

(8) จัดกิจกรรมกีฬาอย่างพอเพียง ทั้งสองสถาบันอยู่ใกล้สนามศุภชลาศัย อาจารย์สามารถพาเด็กไปขอใช้สนามบริเวณรอบๆ ได้ ส่งเสริมกีฬาประเภทต่อสู้ ให้ขึ้นสู่ระดับชาติให้มากๆ ถ้าจำไม่ผิด "แชมป์มงกุฎเพชร" อดุลย์ ศรีโสธร เคยสร้างชื่อเสียงให้ช่างกลปทุมวันลือลั่นมาแล้ว

(9) จัดกีฬาประเพณี ระหว่างสองสถาบัน เน้นกีฬาประเภทป๊อปปูล่าร์และประเภทต่อสู้ และพยายามต่อยอดถึงระดับชาติ

(10) มหาวิทยาลัยจัดตารางเรียน อย่าให้มีเวลาว่างมากนัก หรือให้งานนักศึกษามากๆ

(12) จัดค่ายอาสาพัฒนาชนบท ให้ทั้งสองสถาบันไปทำกิจกรรมร่วมกัน

(13) การบังคับใช้กฎหมาย ตำรวจต้องเข้มงวด อย่าไปกลัวว่านักศึกษาจะเสียอนาคต ครูอาจารย์ต้องไม่ใจอ่อน ผิดก็ว่ากันตามผิด รัฐโทษไปตามบทบัญญัติของการทำผิด

(14) ครู อาจารย์ ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องต้องมาประชุมวางแผนร่วมกัน อย่างน้อยภาคเรียนละครั้ง

ข้อเสนอ การปฏิรูปการศึกษา

การ ศึกษาในระบบส่วนใหญ่ (Formal Education) เผชิญปัญหาทางด้านหลักสูตร (มาตรฐาน) การวัดและการประเมินผล และการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งไม่สามารถนำไปสู่วัตถุประสงค์ของการปฏิรูปการศึกษา และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ที่เน้นการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนได้ โดยสามารถสรุปวิเคราะห์ในรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 เปิดโอกาสให้สถานศึกษาดำเนินการพัฒนาหลักสูตรและพัฒนาระบบการศึกษาที่หลากหลายได้ แต่ กลับพบอุปสรรคคือ การจัดหลักสูตรมาตรฐานที่เน้นสาระวิชาและการวัดและประเมินผลที่เน้นการทดสอบ เนื้อหาวิชาเป็นสำคัญ จึงทำให้โรงเรียนที่มีเจตนาจะดำเนินตาม พ.ร.บ. ต้องลดวัตถุประสงค์เชิงคุณภาพ และกลับมาจัดการเรียนการสอนเพื่อเตรียมตัวนักเรียนแข่งขันกันในการสอบ นอก จากนี้มาตรฐานการวัดผลดังกล่าวทำให้ผู้ปกครองยึดถือการสอบมากกว่า การพัฒนาเด็กอย่างเป็นองค์รวม คือ พัฒนาวิธีคิด วิธีเรียนรู้ด้วยตนเอง และการสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม อันหมายถึงการเป็น ผู้คิดเป็น ทำเป็น และสื่อสารเป็น สังคมไทยจึงไม่สามารถพัฒนาการศึกษาเพื่อไปพัฒนาคนให้มีคุณภาพระดับสากลอย่าง แท้จริงได้

2. ปัจจุบันได้มีกลุ่มสถานศึกษาจำนวนหนึ่ง ที่ได้ดำเนินการจัดการศึกษาตามทิศทางของ พ.ร.บ. อย่างเต็มที่มาเป็นเวลานับ 10 ปี โดยการจัดการศึกษาที่เน้นกระบวนการเรียนรู้และบูรณาการตามความเหมาะสมของแต่ ละระดับการศึกษานับตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนถึงระดับอุดมศึกษา ซึ่งให้ผู้เรียนเข้าถึงเนื้อหาสาระผ่านการฝึกทักษะ การคิด การปฏิบัติจากประสบการณ์จริง โดยผสมผสานสาระวิชาและการปลูกฝังคุณธรรมได้อย่างสมดุล ยกตัวอย่าง เช่น การเรียนผ่านกิจกรรม (Live and Active Learning) และโครงงาน (Project - Based Learning) การจัดการเรียนกับแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย (Community-Based Learning) นอกจากนี้ ยังได้วัดและประเมินผลผู้เรียนอย่างรอบด้าน โดยเน้นกระบวนการคิด การแก้ปัญหา และการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความรู้ และปลูกจิตสำนึกด้านคุณธรรม และจริยธรรม

3. ประสบการณ์ที่สั่งสมมานี้ทำให้กลุ่มสถานศึกษาดังกล่าวเห็นความสำคัญที่จะรวม ตัวกันเป็นเครือข่ายชื่อว่า "เครือข่ายโรงเรียนไทยไท" และได้ร่วมกันพิจารณาถึงโอกาสการปฏิรูปการศึกษารอบที่สองนี้ว่า เป็นจังหวะที่เหมาะสมที่จะผลักดันให้การจัดการศึกษาบรรลุเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. ในประเด็นการยกระดับคุณภาพผู้เรียน (คิดเป็น ทำเป็น สื่อสารเป็น) โดยเปิดทางเลือกระบบการศึกษาที่หลากหลาย

และหลุดพ้นจากการวัดและประเมินผลที่มีข้อจำกัด

ข้อเสนอและทางออก

1. ระบบการจัดการศึกษาที่หลากหลาย เปิดโอกาสให้โรงเรียนที่มีเจตนาจะส่งเสริมคุณภาพผู้เรียนตาม พ.ร.บ.ปี 2542 ได้พัฒนาหลักสูตร และการจัดกระบวนการเรียนรู้ตลอดจนเกณฑ์การวัด และประเมินผลอย่างหลากหลายเป็นของตนเอง โดยไม่ต้องอิงหลักสูตรแกนกลางหรือมาตรฐานตัวชี้วัด

2. การประเมินผลการจัดการศึกษา ภายใต้หลักสูตรของสถานศึกษาเหล่านี้ ควรร่วมกับสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) (สมศ.) เพื่อกำหนดแนวทางการประกันคุณภาพที่ได้มาตรฐาน และการรับรองการจบการศึกษาระดับต่างๆ

3. การสอบเข้าเพื่อศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา เปิดโอกาสให้สถานศึกษาเหล่านี้ทำความตกลงร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ เพื่อพัฒนาการทดสอบที่หลากหลาย เช่น การใช้ Portfolio การนำเสนอผลงานและการสัมภาษณ์ การตรวจสอบรายงานผลการเรียน (Transcript) ที่เน้นการประเมินผลตามจริง (Authentic Assessment) หรือ โครงการพิเศษอื่นๆ เช่น "เด็กปัญญาเลิศ" เป็นต้น ทั้งนี้ โดยมีข้อยกเว้นไม่ต้องผ่านการสอบวัดผลรวม (Gpax, GAT/PAT)

4. การจัดประเภทสถานศึกษาตาม พ.ร.บ. ปี 2542 เพื่อให้กลุ่มการศึกษาทางเลือกใหม่เหล่านี้สามารถดำเนินการตามแนวทางทั้ง 3 ประการข้างต้นได้อย่างถูกต้องตาม พ.ร.บ.จึงเห็นควรกำหนดให้สถานศึกษาเหล่านี้จัดอยู่ในประเภท "การศึกษาตามอัธยาศัย" ตามที่ พ.ร.บ.ได้กำหนดไว้ว่า

เป็นการศึกษาที่ ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจ ศักยภาพ ความพร้อม และโอกาสโดยศึกษาจากบุคคล ประสบการณ์ สังคม สภาพแวดล้อม สื่อหรือแหล่งความรู้อื่นๆ

วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2552

แนวทางสู่แม่พิมพ์มืออาชีพ

เมื่อเราจะก้าวสู่อาชีพครูควรเตรียมตัวเพื่อเป็นครูมืออาชีพ ซึ่งแบ่งโอกาสความก้าวหน้าได้ 3 ช่วงใหญ่ๆ ได้แก่

ช่วงที่หนึ่ง

คือช่วงปรับตัวและเรียนรู้ สิ่งที่จะทำให้เราจะเป็นครูที่ดีได้นั้นต้องเรียนรู้การปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับนักเรียน การพัฒนาตนเอง และการค้นหาแนวทางของตนเอง ในการเป็นครูในระยะนี้ จึงต้องฝึกประสบการณ์ในหลายๆ ด้าน ให้การช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานในองค์กรเพื่อเรียนรู้งาน ประมาณ 3-5 ปี และเพื่อให้รักในวิชาชีพครู


ช่วงที่สอง

คือสร้างเกียรติยศความภาคภูมิใจและการพัฒนาตนเตรียมเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ ได้แก่ การหาแนวทางในการพัฒนาวิชาชีพอย่างจริงจังเพราะเรามีประสบการณ์ในระดับหนึ่งแล้ว


ช่วงที่สาม

คือการก้าวเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการ อันเป็นการแสดงถึงการเป็นครูมืออาชีพเต็มตัว ซึ่งมีความเจริญก้าวหน้าและมีค่าตอบแทน จากตำแหน่งวิชาการในปัจจุบัน ตั้งแต่ครูผู้ช่วย ครูชำนาญการ ครูชำนาญการพิเศษ ครูเชี่ยวชาญ และครูเชี่ยวชาญพิเศษ

สาเหตุที่ทำให้คุณภาพการศึกษาต่ำ

สาเหตุที่ทำให้คุณภาพการศึกษาประสบความตกต่ำมีดังค่อไปนี้ ครับ

1. ครูคนเดียวสอนสองชั้น สามชั้น เนื่องจากครูขาด ครูไม่ครบชั้น สอนได้ครับ จะกี่ชั้นครูก็สอนได้ แต่คุณภาพ จะทำอย่างไรกัน? ปัญหาเรื่องนี้ยังคงอยู่นะครับ จะยุบโรงเรียนขนาดเล็ก จะบรรจุ จะคงอัตราเกษียณ-เออร์ลี่ เป็นแนวทางของรัฐ แต่ไปถึงไหนแล้ว

2.ครู สอนไม่ตรงวิชาเอก เอาครูเกษตรไปสอนคณิตศาสตร์ เอาครูสังคมไปสอนภาษาอังกฤษ เอาครูปฐมวัยไปสอนวิทยาศาสตร์ ฯลฯ โดยเฉพาะโรงเรียนในช่วงชั้นที่ 1 และ 2 แล้วไง? พอนักเรียนมีผลการทดสอบระดับชาติต่ำกว่าเกณฑ์ เอาอีกแล้ว...คุณภาพครู

3.การบริหารและการจัดการในโรงเรียน ครูมีส่วนร่วมเพียงใด แทบไม่มีปากเสียง โรงเรียนจะทำโน่นทำนี่ มิใช่ครูนะครับ แม้แต่กรรมการสถานศึกษาซึ่งมีบทบาทตามกฎหมาย ก็มีส่วนน้อยมาก ผู้บริหารเป็นคนบัญชาการเองทั้งสิ้น มิใช่ครู แต่จำเลยทุกครั้งคือครู

4.เชื่อไหมครับว่า ทุกกิจกรรมในโรงเรียน สำคัญที่สุดตามหลักการ ทฤษฎี คือการจัดการเรียนการสอน แต่ในทางปฏิบัติ ทุกเรื่องสามารถแทรก หรือทำก่อนได้ทั้งหมด การเรียนการสอนคิวสุดท้ายครับ บางครั้งครูต้องเก้อในการเตรียมการสอน เพราะนักเรียนหายไปกับกิจกรรมอื่นๆ บางคราวครูต้องถูกเรียกไปทำงาน ซึ่งมักจะเร่งด่วนอยู่บ่อยๆ การเรียนการสอนต้องงดไว้ก่อน นี้คือข้อเท็จจริง ซึ่งสังคมควรสดับ

5. การพิจารณาความดีความชอบเป็นกรณีพิเศษ หรือ 2 ขั้น ผลการจัดการเรียนการสอนครูที่สอนเก่ง ตั้งใจสอน หมดสิทธิครับ เพราะเมื่อครูเน้นเรื่องสอน งานอื่นที่ไม่ใช่สอนก็ด้อยไปโดยปริยาย เมื่อเป็นเช่นนี้บ่อยเข้า อะไรจะเกิดขึ้น งานอื่นก็เยี่ยมสิครับ ยกเว้นคุณภาพนักเรียน

6.ครูทำงานสารพัดอย่างนะครับ มิใช่สอนอย่างเดียว งานธุรการ งานพัสดุ งานการเงิน ฯลฯ งานนอกที่โรงเรียนทำร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ อีก โดยเฉพาะการรายงานข้อมูลต่างๆ ทำให้ครูหลายคนมีเวลาสอนน้อยกว่าเวลาทำงานอื่น ทั้งที่ครูควรมีหน้าที่สอน แปลกไหมครับ แต่เป็นคำตอบถึงคุณภาพนักเรียนได้เป็นอย่างดี

ลักษณะที่ดีของครู

ลักษณะที่ดีของครู

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ศาสตราจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ ได้กล่าวถึงคุณค่าของความเป็นครูในสังคมปัจจุบันว่า คนเป็นครูควร มีรูปลักษณ์ (Appearance) ดังต่อไปนี้

1. เป็นผู้มีความรอบรู้ดี การเป็นผู้มีความรอบรู้ หมายถึง การมีความรู้หรือความเข้าใจใน วิชาการต่างๆ ซึ่งได้ศึกษาเล่าเรียนมาจาก วิทยาลัย/ มหาวิทยาลัยเป็นอย่างดี มีความความเชื่อมั่นในวิชาการแต่ไม่หยิ่งผยองว่าตนมีความรู้สูง

2. เป็นผู้มีอารมณ์ขัน การเป็นผู้มีอารมณ์ขัน คือ การเป็นผู้ที่สามารถในการรับรู้ ซาบซึ้งหรือสามารถแสดงความรู้สึก ในสิ่งที่ทำให้ ขำขันหรือสนุกสนาน

3. การเป็นผู้มีความยืดหยุ่น หมายถึง การเป็นผู้ที่มีความรู้สึกไวต่อการเปลี่ยนแปลงแก้ไขปรับเปลี่ยน

4. เป็นผู้มีวิญญาณครู บุคคลที่มีวิญญาณครูโดยแท้จริงแล้ว จะเป็นผู้ที่มีความ รักในตัวเด็กและยินดีในภารกิจทางการสอน

5. เป็นผู้มีความซื่อสัตย์ การมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นคุณลักษณะที่สำคัญมากสำหรับคนทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นครูอาจารย์ ครูอาจารย์ที่มีความซื่อสัตย์จริงใจเมื่อบอกนักเรียนว่าจะทำอะไรก็จะพยายามทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ

6. เป็นผู้สามารถทำให้เข้าใจได้รวบรัดชัดเจน ความสามารถในการทำให้เข้าใจได้รวบรัดชัดเจนจะเป็นเรื่องของการใช้ภาษาและภาษาเขียน เป้าหมาย สำคัญของการศึกษาประการหนึ่ง ก็คือ เพื่อช่วยให้นักเรียนเป็นผู้ที่มีความสามารถในการสื่อสารได้รวบรัดชัดเจน

7. เป็นคนเปิดเผย การเป็นเปิดเผย คือ การเป็นคนที่เต็มใจจะเปิดเผยเรื่องราวที่ตนมีอยู่ให้ผู้อื่นรับรู้ ครูอาจารย์ที่เปิดเผยสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของตนเพื่อแสดงเป็นตัวอย่างหรือเปิดเผยความรู้สึกในเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือในสถานการณ์ที่กำหนด

8. เป็นผู้มีความอดทน การเป็นผู้มีความอดทนในที่นี้ แสดงถึงความเป็นบุคคลที่มีความเพียรพยายามหรือขยันขันแข็ง น้อยคนนักที่ จะมีคุณสมบัติข้อนี้อย่างเพียงพอ ส่วนนักวิจัยนักปฏิบัติการต่างๆ ก็พยายามเสนอแนะเทคนิค การเรียนการสอนจำนวน มากมาย เพื่อให้ครูอาจารย์นำไปใช้กับนักเรียนกลุ่มต่างๆ ครูอาจารย์อาจจะเกิดความข้อง ชัดใจเมื่อต้องรับภาระกับ นักเรียนจำนวนมากๆ ดังนั้น ครูอาจารย์จะต้องมีความอดทนในการสอนนักเรียนในชั้น และจะต้องอดทนต่อการเรียน รู้ถึงความเจริญก้าวหน้าทีละเล็กทีละน้อยวันต่อวันของนักเรียนมากกว่าที่จะ หวังผลเหมือนการแสดงละคร ในทันที ทันใด

9. เป็นผู้กระทำตนเป็นแบบอย่างที่ดีงาม ครูอาจารย์ควรเป็นบุคคลที่กระทำตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีเป็นพิเศษ เพราะเด็กและเยาวชนต้องการแบบอย่าง การกระทำที่ถูกต้องดีงาม เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของตน ปัจจุบันแบบกระสวนพฤติกรรมต่างๆ ของ เด็กจำนวนมากมักจะได้มาจากแบบอย่างที่มาจากโทรทัศน์ ภาพยนตร์ หรือเพื่อนบ้าน แบบอย่างบางประการ ที่ได้มา จาก สื่อมวลชนอาจจะดี แต่ก็มีพฤติกรรมบางอย่างที่ ลอกเลียนมาเป็นไปในทางลบ เยาวชนที่ขาดความรักความอบอุ่น จากบิดามารดา ปู่ย่า ตายาก และไม่ได้แบบอย่างที่ดีงามจากครูอาจารย์ มักจะปฏิบัติตัวไปในทาง เสื่อมเสียตาม ที่ตน เองได้ตัดสินใจ ดังนั้น ครูอาจารย์ ควรระลึกอยู่เสมอว่า การกระทำตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็กๆ ที่ตนเองรับผิด ชอบเป็นสิ่งหนึ่งที่ดีที่สุดที่ครูอาจารย์สามารถให้ความช่วยเหลือสังคม

10. เป็นผู้ที่มีความสามารถนำความรู้ทางทฤษฎีไปปฏิบัติได้ การนำเอาความรู้ที่ได้รับจากการศึกษาเล่าเรียนในสถาบัน การศึกษาไปใช้ในโรงเรียนจริงๆ ให้เกิดผลอย่าง มีประสิทธิภาพเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก ดังนั้น ในการจัดกระบวนการเรียนการสอนในสถาบันฝึกหัดครู จึงพยายามให้ นักศึกษาครูได้มีประสบการณ์ในการสอนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นักศึกษาครูจะต้องพยายามมีส่วนร่วมเกี่ยวข้อง กับสถานการณ์จริงๆ ในห้องเรียนให้มากและพยายามไต่ถามข้อข้องใจจากอาจารย์ที่มีประสบการณ์จากผู้บริหาร จากผู้ปกครองและจากนักเรียน เป็นต้น

11. เป็นผู้มีความเชื่อมั่นในตนเอง ในเมื่อเราได้กำหนดตัวของเราเองเพื่อการสอนแล้ว ดังนั้น วิธีที่ดี ที่สุดต่อการสร้างความเชื่อมั่น ให้แก่ ตนเอง ก็คือการ ทดสอบตัวเอง และพัฒนาความเชื่อมั่นในประสบการณ์ต่างๆ ที่สัมพันธ์กับการสอนให้มากที่สุด เท่าที่จะ ทำได้ การได้รับข้อสังเกตในทางบวกจากงานที่ได้กระทำสำเร็จลงด้วยดี จะช่วยส่งเสริมความ เชื่อมั่นของบุคคล ได้อย่างดี

12. เป็นผู้มีความสามารถพิเศษในศิลปะและวิทยาการหลายๆ ด้าน ครูอาจารย์ที่ประสบความสำเร็จ ส่วนมากมิได้มีความรู้เพียงอย่างเดียว แม้ว่าผู้ประกอบวิชาชีพครูจะได้ เลือก เรียนวิชาสาขาใดสาขาหนึ่งเป็นวิชาเอก เช่น การประถมศึกษา ดนตรีศึกษา สังคมศึกษา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ หรืออื่นๆ

13. เป็นผู้แต่งกายเรียบร้อย สะอาด สง่าผ่าเผย และมีสุขอนามัยส่วนตัวดี เสื้อผ้าอาภรณ์ที่ได้ออกแบบมาด้วยราคาแพงๆ มิใช่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพครู สิ่งสำคัญ อยู่ ที่ความสะอาดเรียบร้อย และสวมใส่เนื้อผ้า ซึ่งมีความเหมาะสมกับความเป็น ครูหรือเหมาะสมถูกต้องตาม รูปแบบ ที่ทางสถานศึกษากำหนด สุขภาพอนามัยส่วนตัวของครูก็เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง หากครูมีร่างกายสกปรกสุขภาพ ไม่ดีย่อมก่อให้เกิด ปัญหาใน การสอน ครูที่มีสุขภาพดีทั้งร่างกายและ จิตใจ จะช่วยสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีกับนักเรียนได้มากขึ้น

วันพุธที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2552

บทบาทของครู

ความหมาย
บทบาทของครู หมายถึงภาระหน้าที่ที่ครูต้องรับผิดชอบ บทบาทของครูทั้งในอดีตและปัจจุบัน

พอสรุปได้ดังนี้คือ

1.1. บทบาทของครูในการเป็นผู้บริหาร
ครูอาจารย์ที่เป็นผู้บริหารสถาบันการศึกษาได้แก่ครูใหญ่อาจารย์ใหญ่และผู้อำนวยการซึ่งเปรียบเสมือนเฟืองจักรใหญ่ที่จะกำกับและควบคุมให้ครูผู้สอน ซึ่งเป็นเฟืองจักรเล็กทำงานอย่างมีประสิทธิภาพผู้บริหารเป็นผู้นำสถาบันที่ควรต้องเป็นกลไกใหม่ในการจัดการศึกษา จัดบุคคลจัดสถานที่ จัดบริการต่าง ๆ เพื่อให้การเรียนการสอนดำเนินไปสู่เป้าหมายของหลักสูตรที่วางไว้ ฉะนั้น หลักต่าง ๆ ที่ควรจำไว้ปฏิบัติมีดังนี้

1. ต้องเป็นผู้บริหารที่เป็นหัวหน้าที่ดี มีประสิทธิภาพใช้ผู้ร่วมงานให้ได้ประโยชน์มาก ต้องเป็นผู้วางมาตรการในการทำงาน การผลิตได้สูง แต่ปฏิบัติต่อผู้บังคับบัญชาแตกต่างไปบ้าง ทำงานโดยคำนึงถึงความสำเร็จของงานรวมกับสัมพันธภาพ ผู้ร่วมงานดีเป็นแบบอย่างที่ดีทำให้ทุกคนร่วมงานกัน ร่วมมือกันทำงานที่ได้รับมอบหมาย มีความรับผิดชอบสูงและมีวิธียั่วยุในการทำงาน

2. มีความสามารถในการสร้างแนวความคิดและความสมเหตุสมผล คือ สามารถรวมปัจจัย ข้อเท็จจริงที่จำเป็นต่าง ๆ เข้าเป็นแรงความคิดอันหนึ่งอันเดียวกันได้

3. กล้าตัดสินใจ มองทะลุได้ และไม่หวั่นต่ออุปสรรค

4. การตัดสินใจที่ใช้ญาณหยั่งรู้ คือสามารถตัดสินใจฉับพลันได้ทันที แต่สุขุมรอบคอบละเอียดลึกซึ้ง

5. เป็นคนใจกว้าง สนใจและยอมรับฟังความคิดเห็นใหม่ ๆ รวมทั้งความคิดเห็นที่ไม่เหมือนกับของผู้อื่น

6. มีความสามารถในการชักจูงผู้อื่นให้เห็นพ้องต้องกัน วิธีที่ดีที่สุดให้ผู้เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ในรูปแบบแผนที่เหมาะสม(ทองคำ ผดุงสุข, 2532 : น. 104 – 105)

1.2 บทบาทของครูในการเป็นผู้สนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาเยาวชน
โดยการให้การศึกษาที่มีคุณภาพแก่นักเรียน ให้ความรู้ทั้งวิชาสามัญและวิชาชีพตามหลักสูตร ครูเป็นผู้มีบทบาทสำคัญไม่ว่าจะจัดการสอนโดยวิธีใด ครูต้องมีการวางแผนและเตรียมการสอนเป็นอย่างดี ไม่ละทิ้งเด็ก และมีการจัดกิจกรรมเสริม เพื่อให้เด็กเข้าใจในบทเรียนยิ่งขึ้น

นอกจากการสอนวิชาความรู้แล้ว ครูยังมีบทบาทในการสอนให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ รู้จักคิดเป็น แก้ปัญหาเป็น เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมปัจจุบันได้อย่างเหมาะสม และมีความสุขตามควรแก่อัตภาพ

1.3 บทบาทของครูในการเป็นผู้นำด้านศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม และค่านิยม
โดยการประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ มีศีลธรรม สุขภาพ มีความเมตตากรุณา เอื้ออาทรต่อความเป็นอยู่ของศิษย์ คอยช่วยเหลือเมื่อศิษย์มีปัญหา มีความอดทนและเสียสละ

1.4 บทบาทของครูในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง การปกครอง

ด้านเศรษฐกิจ
ปัจจุบันเศรษฐกิจของประเทศไทยเจริญเติบโตเป็นอย่างมาก มีการพัฒนาทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม และธุระกิจ ครูเป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศชาติ โดยการให้ความรู้แก่นักเรียน และเน้นทักษะในการทำงานต่าง ๆ เพื่อนักเรียนจะได้มีความรู้ที่ได้มาตรฐานและสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นครูควรส่งเสริมให้มีกิจกรรมสหกรณ์ร้านค้าในโรงเรียน ส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เช่น ทำสวนครัว ปลูกผัก และไม้ดอก เป็นต้น ส่งเสริมให้เด็กรู้จักออมทรัพย์ให้ความรู้และส่งเสริมสุขภาพอนามัยแก่ชุมชน เพื่อให้เด็กนักเรียนและคนในชุมชนมีสุขภาพพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์ รู้จักหลักโภชนาการที่ถูกต้อง รู้จักการรักษาความสะอาดและรู้จักการวางแผนครอบครัว แนะนำอาชีพใหม่ ๆ ให้แก่ชุมชน พร้อมทั้งจัดฝึกอบรมอาชีพดังกล่าว และส่งเสริมให้มีการผลิตและนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการประกอบอาชีพของชุมชน เพื่อทำให้ปฏิบัติงานได้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และมีผลผลิตเพิ่มขึ้น เช่น แนะนำการใช้ปุ๋ย การผสมเทียมสัตว์ และการนำเครื่องมือเครื่องใช้มาช่วยด้านเกษตร เป็นต้น.

ด้านสังคม
ครูมีส่วนช่วยในการพัฒนาสังคม โดยการให้ความรู้แก่คนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นความรู้วิชาสามัญหรือวิชาชีพก็ตาม เพราะจะทำให้คนในชุมชนมีพื้นฐานการศึกษาอันจะนำไปสู่ความรู้และความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ รอบ ๆ ตัวได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้นครูยังมีส่วนช่วยในการริเริ่ม ส่งเสริมและแนะนำในเรื่องการประกอบอาชีพ ความเป็นอยู่ และการพัฒนาชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดี.

ด้านการเมืองการปกครอง
ครูต้องจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและระบบการเมืองการปกครองของประเทศ และมีส่วนช่วยในการพัฒนาการเมืองการปกครอง ให้มีความมั่นคง โดยการให้ความรู้ในเรื่องระบบการปกครองของประเทศ โดยเฉพาะระบอบประชาธิปไตยแก่เด็กและคนในชุมชน สนับสนุนและฝึกหัดให้นักเรียนรู้จักรูปแบบการปกครองประเทศ โดยให้มีการจัดตั้งสภานักเรียน การเลือกหัวหน้าชั้น เป็นต้น นอกจากนั้นครูยังช่วยแนะนำประชาชนในเรื่องการเลือกตั้งผู้แทนในระดับต่าง ๆ อย่างถูกต้อง

1.5 บทบาทของครูในการช่วยส่งเสริมศาสนาและวัฒนธรรม
โดยการช่วยทะนุบำรุงรักษาพระศาสนาให้มีความมั่นคงควบคู่กับสถาบันชาติและพระมหากษัตริย์ มีความเลื่อมใสและศรัทธาในศาสนาที่นับถือ ปฏิบัติตามหลักธรรมและปฏิบัติศาสนกิจเป็นประจำ นอกจากนั้นครูจะต้องช่วยส่งเสริมและพัฒนาวัฒนธรรมของชาติให้มั่นคง ถ่ายทอดวัฒนธรรมอันดีงามให้แก่เด็ก ช่วยกันจัดกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมและส่งเสริมให้มีการจัดห้องวัฒนธรรมในโรงเรียน

1.6 บทบาทของครูในการพัฒนาประเทศ

คณาจารย์ภาควิชาพื้นฐานการศึกษา ได้กล่าวถึงบทบาทของครูในการพัฒนาประเทศว่า (คณาจารย์ภาควิชาพื้นฐานการศึกษา,2535 : 188 - 190)ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาในระดับสูง มีการจัดการศึกษาตามแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติซึ่งเป็นแผนแม่บทในการพัฒนาประเทศ นับเป็นแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติระยะที่ 7 (พ.ศ.2535 ถึง พ.ศ. 2539) การดำเนินการพัฒนาการศึกษาในแต่ละแผนได้มีการประเมินผลเพื่อใช้ในการปรับปรุงปฏิบัติงานในระยะต่อมาโดยตลอดปัญหาทางการศึกษาที่ผ่านมาเป็นเรื่องของปริมาณการศึกษา คือ เยาวชนของประเทศยังขาดโอกาสทางการศึกษาในระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาที่จะช่วยให้พลเมืองส่วนใหญ่มีคุณภาพหนทางแก้ปัญหาส่วนหนึ่งได้มุ่งขยายโอกาสทางการศึกษาอย่างกว้างขวาง

ในแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535 - 3539) ได้กำหนดวัตถุ-ประสงค์ และนโยบายในระดับประถมศึกษาที่มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนที่จบประถมศึกษาได้เรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นหรือได้รับการศึกษาต่อเนื่องในรูปแบบต่าง ๆ มากขึ้น (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ 2534) กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินงานตามนโยบายนี้โดยการจัดทำโครงการขยายโอกาสทางการศึกษาระดับมัธยมศึกษาเพิ่มขึ้นอีก 3 ปี ในโรงเรียนสังกัดสำนักงาน คณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีการศึกษา 2534และมีเป้าหมายที่จะดำเนินการให้ครบทุกโรงเรียนในปีการศึกษา 2540 ตามหลักการนี้รัฐจะต้องเพิ่มปริมาณสถานศึกษาต้องสนับสนุนงบประมาณวัสดุอุปกรณ์ทางการศึกษา เพิ่มครูทั้งปริมาณและคุณภาพ

การพัฒนาท้องถิ่นด้านการศึกษาถือว่าเป็นบทบาทโดยตรงของครู เพราะการให้การศึกษา เป็นหน้าที่โดยตรงสำหรับคนที่มีวิชาชีพครูจะกระทำได้ โดยการพยายามใช้ความรู้ความสามารถและใช้ประโยชน์จากวัสดุและอุปกรณ์ที่มีอยู่ในโรงเรียนและชุมชนแนวทางในการจัดการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาชุมชน ครูอาจทำได้ดังนี้คือ
1.จัดหลักสูตรการเรียนการสอน พยายามเน้นหนักในด้านแก้ปัญหาและสนองความต้องการของท้องถิ่น

2.การจัดการศึกษามุ่งให้ผู้เรียนนำความรู้ที่เรียนไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง ๆ(ชนิตา รักษ์พลเมือง, 2526 : 168)

3. ปรับปรุงโรงเรียนเป็นศูนย์ประสานงานบริการด้านวิชาการ และข่าวสาร เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน (สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ, 2527 : 26 ) ครูซึ่งมีจำนวนมากและกระจายอยู่ในท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาสมรรถภาพในด้านต่าง ๆ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานด้านการศึกษาให้มีส่วนในการพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง

สรุป การศึกษาเป็นกลยุทธอย่างหนึ่ง ของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งการลงทุนทางการศึกษาของมนุษย์ก็เพื่อเป็นการเพิ่มคุณค่า และคุณภาพของมนุษย์ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศต่อไปการผลิตผู้ที่มีการศึกษาเป็นการผลิตกำลังคนเพื่อสนองความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการผลิตกำลังคนที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดังนั้นแนวโน้มการผลิตผู้มีการศึกษาในอนาคตจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยดังกล่าวข้างต้นเป็นสำคัญ.

ความเป็นมาและความสำคัญของครู

ความสำคัญของครู

ในชีวิตของคนเราถือว่า บิดามารดา เป็นผู้มีพระคุณอันสูงสุด เพราะท่านเป็นผู้ให้ชีวิต ให้ความรัก ให้ความเมตตา มีความห่วงใย และเสียสละเพื่อลูก นอกจาก บิดามารดา แล้ว ก็มีครูเป็นผู้มีพระคุณคล้าย บิดามารดา คือ เป็นผู้อบรมสั่งสอนถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ รวมทั้งให้ความรัก ความเมตตาต่อศิษย์ทุกคน นับได้ว่าครูเป็นผู้เสียสละที่ไม่แพ้บุพการี
ครูจึงนับเป็นปูชนียบุคคลที่มีความสำคัญอย่างมาก ในการให้การศึกษาเรียนรู้ ทั้งในด้านวิชาการ และประสบการณ์ ตลอดเป็นผู้มีความเสียสละ ดูแลเอาใจใส่ สั่งสอนอบรมให้เด็กได้พบกับแสงสว่างแห่งปัญญา อันเป็นหนทางแห่งการประกอบ าชีพเลี้ยงดูตนเอง รวมทั้งนำพาสังคมประเทศชาติ ก้าวไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ฉะนั้นวันที่ 6 ตุลาคม จึงได้เป็นวันครูสากล เพื่อคนที่เป็นครูทั่วโลกที่เสียสละนำพาเราทุก ๆคน ไปถึงฝั่งฝันนั่นเอง

ความเป็นมา
วันครู ได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2500 สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี พ.ศ.2488 ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า คุรุสภา เป็นนิติบุคคลให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครูในขณะเดียวกัน ก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นเรื่องนโยบายการศึกษา และวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษาธิการ ควบคุมจรรยาและวินัยของครู รักษาผลประโยชน์ ส่งเสริมฐานะของครู จัดสวัสดิการให้ครู และครอบครัวได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้ และความสามัคคีของครู
ทุกปีคุรุสภาจะจัดให้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูทั่วประเทศแถลงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา และซักถามปัญหาข้อข้องใจต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา เป็นผู้ตอบข้อสงสัย สถานที่ในการประชุมสมัยนั้นใช้หอประชุมสามัคคยาจารย์ หอประชุมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในระยะหลังใช้หอประชุมคุรุสภา
พ.ศ.2499 ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป.พิบูล สงคราม นายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า
“ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณเป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าวันครูควรมีสักวันหนนึ่งสำหรับให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายได้แสดงความเคารพสักการะต่อวันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง”
จากแนวความคิดนี้ กอปรกับความเห็นของครูที่แสดงออกทางสื่อมวลชนและอื่นๆ ที่ล้วนเรียกร้องให้มีวันครูเพื่อให้เป็นวันแห่งการรำลึกถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดีเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นอันมาก ในปีเดียวกันที่ให้มีวันครูเพี่อเสนอคณะกรรมการอำนวยการต่อไป โดยได้เสนอหลักการว่า เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพจารย์ ส่งเสริมความสามัคคีธรรมระหว่างครูและพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับประชาชน
คณะมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2499 ให้วันที่ 16 มกราคมของทุกปีเป็น “วันครู” โดยถือเอาวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2488 เป็นวันครู และให้กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันดังกล่าว
งานวันครูได้จัดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2500 ในส่วนกลางใช้สถานที่ของกรีฑาสถานแห่งชาติเป็นที่จัดงาน ได้กำหนดเป็นหลักการให้มีอนุสรณ์งานวันครูไว้แก่อนุชนรุ่นหลังทุกปี อนุสรณ์ที่สำคัญ คือ หนังประวัติครู หนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างที่เป็นถาวรวัตถุ

ความสำคัญของจิตวิทยาต่อวิชาชีพครู

ลักษณะของครูที่ดีและมีประสิทธิภาพ

ครูที่ดีและมีวิธีสอนอย่างมีประสิทธิภาพ หมายถึงครูที่มีการสอนที่รับรองได้ว่านักเรียนจะเกิดการเรียนรู้ นักจิตวิทยาการศึกษาหลายท่านได้ทำการวิจัยหรือหาตัวแปรที่ทำให้การสอนมีประสิทธิภาพ ศาสตราจารย์ จอห์น แคร์รอล (John Carroll, 1963) ได้เขียนบทความจิตวิทยาการศึกษาเกี่ยวกับรูปแบบการสอน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่มีอิทธิพลมากที่สุด บทความนี้ชื่อว่า “A model of School Learning” แคร์รอลได้อธิบายความหมายของครูที่มีประสิทธิภาพว่า เป็นครูที่สอนให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ ให้เวลาแก่นักเรียนแต่ละคนได้เรียนรู้โดยพิจารณาความแตกต่างของบุคคล และวิชาที่สอน บางคนต้องการเวลามากแต่บางคนต้องการเวลาน้อย ซึ่งขึ้นกับวิชาที่ครูสอน รวมทั้งจัดกิจกรรมและ ประสบการณ์เพื่อจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ แคร์รอล กล่าวต่อไปว่าการสอนที่มีประสิทธิภาพไม่ได้ขึ้นกับการสอนของครูเท่านั้น แต่ขึ้นกับตัวนักเรียนด้วย คุณลักษณะของนักเรียนมีส่วนให้นักเรียน เรียนรู้ ในอัตราความเร็วแตกต่างกันด้วยคือ
1. ความถนัด (Aptitude) หมายถึง ความสามารถของนักเรียนที่จะเรียนรู้

2. ความสามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่ครูสอน (Ability to Understand Instruction)

3. ความเพียรพยายาม (Perseverance) นักเรียนใช้เวลาสำหรับการเรียนรู้ ซึ่งมักจะเนื่องมาจากการ
ที่นักเรียนมีแรงจูงใจที่จะเรียนรู้

4. การมีโอกาส ครูให้เวลานักเรียนในการเรียนรู้สิ่งที่ครูสอน โดยคิดถึงความสามารถและความถนัด
ของนักเรียน

โดยสรุป ครูสามารถสอนอย่างมีประสิทธิภาพ หมายถึงการสอนของครูที่สามารถให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ตามความถนัดและความสามารถของทุกคน

โบรฟี่ (Brophy, 1992) นักจิตวิทยาการศึกษาที่ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับการสอน-การเรียนรู้ก็ได้ทำการศึกษาเรื่องนี้และให้ความหมายของการเป็นครูที่ดี และมีประสิทธิภาพว่าเป็นครูที่สามารถสอนให้นักเรียนมีสัมฤทธิผลในการเรียนและสามารถนำความรู้ที่เรียนไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้

จากการวิจัยของนักจิตวิทยาการศึกษาที่เกี่ยวกับคุณลักษณะของครูที่ดีและมีประสิทธิภาพหลายท่าน ก็ได้ผลคล้ายคลึงกันและอาจสรุปได้ว่าคุณลักษณะสำคัญของครูที่ดีและมีประสิทธิภาพดังต่อไปนี้ (Ryans, 1964 ; Emmer, Evertson and Anderson, 1980, Good and Grows, 1979; Housner& Gniffy, 1983)
1. ต้องเป็นนักมนุษยนิยม (Humanist) คือเป็นผู้ที่ยอมรับนักเรียนอย่างจริงใจ ให้ความอบอุ่น มีความเข้าใจนักเรียน มีความยุติธรรม และมีคุณลักษณะของครูตามทัศนะของนักจิตวิทยา-มนุษยนิยม และเป็นกัลยาณมิตรของนักเรียน

2. เป็นผู้ที่มีความรู้ และมีความเข้าใจเกี่ยวกับจิตวิทยาการเรียนการสอนคือ ครูต้องเข้าใจธรรมชาติของกระบวนการเรียนรู้และสามารถที่จะให้วิธีสอนที่เหมาะสม และจูงใจให้นักเรียนอยากเรียนรู้ ครูจะต้องใช้วิธีการประเมินผลที่สามารถบอกได้ว่าการเรียนรู้ได้เกิดขึ้นจริง

3. เป็นผู้ที่รู้จักนักเรียน ครูไม่เพียงแต่เป็นผู้สอนนักเรียนทางวิชาการเท่านั้น แต่เป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการทางบุคลิกภาพของนักเรียนด้วย ดังนั้นครูต้องมีความรู้เกี่ยวกับจิตวิทยาพัฒนาการเพื่อจะช่วยนักเรียนให้มีพัฒนาการทั้งด้านสติปัญญาและด้านบุคลิกภาพด้วย โดยทำตนเป็นผู้ส่งเสริมการพัฒนาบุคลิกภาพของนักเรียนให้ไปในทางบวก เพื่อนักเรียนจะได้เจริญเติบโตเป็นบุคคล ที่มีชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีคุณค่า มีความภูมิใจในตัวเองและมีความสุข

4. เป็นผู้ที่มีคุณวุฒิทางวิชาการ โดยเฉพาะในวิชาต่างๆ ที่ตนจะต้องสอนสำหรับความรู้ด้านวิชาการนั้น เมื่อนิสิตนักศึกษาครูเรียนจบหลักสูตรแล้ว ก็อาจจะเชื่อได้ว่าได้รับการเตรียมตัวพร้อมที่จะเป็นผู้สอนได้ และนอกจากนี้ถ้านิสิตนักศึกษาเป็นผู้ที่พยายามขวนขวายหาความรู้อยู่เสมอไม่ว่าจะด้วยการอ่านค้นคว้าด้วยตนเอง หรือไปอบรมต่อในวิชาที่ตนสอนก็จะเป็นบุคคลที่มีคุณวุฒิทางวิชาการที่ทันสมัยเสมอ

5. เป็นผู้นำที่ดีและเป็นผู้ฟังที่ดี สามารถจะช่วยนักเรียนให้มีความเข้าใจซึ่งกันและกันในกรณีที่มีความขัดแย้งกัน ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน

6. มีทักษะในการจัดการห้องเรียนให้เอื้อการเรียนรู้

7.เป็นผู้ที่นิยมในวิธีการวิทยาศาสตร์และเข้าใจกฎแห่งพฤติกรรมและเป็นนักวิทยาศาสตร์พฤติกรรม

8. จะต้องมีทักษะของชีวิต (Life Skills) คือเป็นผู้สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้ดี และมีความสันพันธ์อันดีหรือต้องมีมนุษยสัมพันธ์ สามารถแก้ปัญหาและตัดสินใจได้ มีสุขภาพดีทั้งกายและใจจะต้องมีจุดมุ่งหมายของชีวิตและมีใจรักอาชีพที่เลือก

ความหหมายของครู

ครู
คือ บุคคลที่มีหน้าที่ หรือมีอาชีพในการสอนนักเรียนเกี่ยวกับวิชาความรู้ หลักการคิดการอ่าน รวมถึงการปฏิบัติและแนวทางในการทำงาน โดยวิธีในการสอนจะแตกต่างกันออกไปโดยคำนึงถึงพื้นฐานความรู้ ความสามารถ และเป้าหมายของนักเรียนแต่ละคน
คำว่า "ครู" มาจากศัพท์ภาษาสันสกฤต "คุรุ" และภาษาบาลี "ครุ, คุรุ"
ครูในระดับอุดมศึกษา
ผู้สอนในวิทยาลัย มหาวิทยาลัย หรือระดับอุดมศึกษา จะมีตำแหน่ง อาจารย์ โดยอาจารย์ที่ได้รับตำแหน่งทางวิชาการ ได้แก่ อาจารย์ (อ.), ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.), รองศาสตราจารย์ (รศ.) และ ศาสตราจารย์ (ศ.) ตามลำดับ การได้รับตำแหน่งทางวิชาการเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา
ตำแหน่งครู คือบุคคลที่ทำหน้าช่วยสอน สอนทบทวน สอนภาคปฏิบัติ แตกต่างจากอาจารย์ที่ สอนภาคบรรยาย
ครูใหญ่
ครูที่ทำหน้าที่ดูแลระบบทั้งโรงเรียนจะเรียกว่า ครูใหญ่ ซึ่งคล้ายคลึงกับคณบดี หรืออธิการบดี ในระดับอุดมศึกษา โดยหน้าที่ของครูใหญ่มักจะทำหน้าที่ดูแลระบบการจัดการของโรงเรียนมากกว่าการสอนในห้องเรียน ต่อมาเป็นตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา มีทั้งครูใหญ่..., อาจารย์ใหญ่..., ผู้อำนวยการ... ณ ปัจจุบันใช้"ผู้อำนวยการสถานศึกษา" เช่น ผู้อำนวยการโรงเรียน..., ผู้อำนวยการวิทยาลัย... ทำหน้าที่บริหารสถานศึกษา แต่ต้องมีชั่วโมงปฏิบัติการสอนอย่างน้อย 5 ชั่วโมง / สัปดาห์
ความหมายของครู
T E A C H E R S
T = Teaching สอน
E = Ethic ปูชนียบุคคล
A = Academic ถ่ายทอด
C = Culture heritage วัฒนธรรม
H = Human Relationship มนุษยสัมพันธ์
E = Evaluation การวัด ประเมินผล
R = Research วิจัย
S = Service บริการ
ความหมายของครูเป็นรูปธรรม
คุณค่าของความเป็นครูเป็นนามธรรม
- ครูมีคุณค่าในความเป็นปูชนียบุคคล
- ครูเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ
- ครูเป็นวิศวกรแห่งชีวิต
- ครูเป็นผู้ให้ความผูกพัน
- ครูเป็นผู้ให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนต่อตนเองมากไปกว่าการได้เห็นศิษย์ถึงจุดหมาย
- ครูเป็นผู้ซึ่งมีความดี ความงาม ซึ่งแสดงออกโดย กาย วาจา ใจ อย่างบริสุทธิ์ใจ
- ครูเป็นผู้สืบทอด และถ่ายทอดวัฒนธรรม
- ความเป็นครู มองจากภายนอก (คนเป็นครู) เพื่อให้เห็นหน้าที่ของ ครู
- ครูเป็นผู้อบรม บ่ม เพาะ สั่งสอน
เมื่อเรามองพฤติกรรมของครู เราจึงจะกำหนดคุณค่าของความเป็นครูได้ โดยมองทางกาย(พฤติกรรม การกระทำ) ทางวาจา อันเป็นสิ่งสะท้อนจากใจ อันเป็นความดี ความงามของบุคคล