วันศุกร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2552

ข้อเสนอ การปฏิรูปการศึกษา

การ ศึกษาในระบบส่วนใหญ่ (Formal Education) เผชิญปัญหาทางด้านหลักสูตร (มาตรฐาน) การวัดและการประเมินผล และการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งไม่สามารถนำไปสู่วัตถุประสงค์ของการปฏิรูปการศึกษา และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ที่เน้นการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนได้ โดยสามารถสรุปวิเคราะห์ในรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 เปิดโอกาสให้สถานศึกษาดำเนินการพัฒนาหลักสูตรและพัฒนาระบบการศึกษาที่หลากหลายได้ แต่ กลับพบอุปสรรคคือ การจัดหลักสูตรมาตรฐานที่เน้นสาระวิชาและการวัดและประเมินผลที่เน้นการทดสอบ เนื้อหาวิชาเป็นสำคัญ จึงทำให้โรงเรียนที่มีเจตนาจะดำเนินตาม พ.ร.บ. ต้องลดวัตถุประสงค์เชิงคุณภาพ และกลับมาจัดการเรียนการสอนเพื่อเตรียมตัวนักเรียนแข่งขันกันในการสอบ นอก จากนี้มาตรฐานการวัดผลดังกล่าวทำให้ผู้ปกครองยึดถือการสอบมากกว่า การพัฒนาเด็กอย่างเป็นองค์รวม คือ พัฒนาวิธีคิด วิธีเรียนรู้ด้วยตนเอง และการสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม อันหมายถึงการเป็น ผู้คิดเป็น ทำเป็น และสื่อสารเป็น สังคมไทยจึงไม่สามารถพัฒนาการศึกษาเพื่อไปพัฒนาคนให้มีคุณภาพระดับสากลอย่าง แท้จริงได้

2. ปัจจุบันได้มีกลุ่มสถานศึกษาจำนวนหนึ่ง ที่ได้ดำเนินการจัดการศึกษาตามทิศทางของ พ.ร.บ. อย่างเต็มที่มาเป็นเวลานับ 10 ปี โดยการจัดการศึกษาที่เน้นกระบวนการเรียนรู้และบูรณาการตามความเหมาะสมของแต่ ละระดับการศึกษานับตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนถึงระดับอุดมศึกษา ซึ่งให้ผู้เรียนเข้าถึงเนื้อหาสาระผ่านการฝึกทักษะ การคิด การปฏิบัติจากประสบการณ์จริง โดยผสมผสานสาระวิชาและการปลูกฝังคุณธรรมได้อย่างสมดุล ยกตัวอย่าง เช่น การเรียนผ่านกิจกรรม (Live and Active Learning) และโครงงาน (Project - Based Learning) การจัดการเรียนกับแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย (Community-Based Learning) นอกจากนี้ ยังได้วัดและประเมินผลผู้เรียนอย่างรอบด้าน โดยเน้นกระบวนการคิด การแก้ปัญหา และการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความรู้ และปลูกจิตสำนึกด้านคุณธรรม และจริยธรรม

3. ประสบการณ์ที่สั่งสมมานี้ทำให้กลุ่มสถานศึกษาดังกล่าวเห็นความสำคัญที่จะรวม ตัวกันเป็นเครือข่ายชื่อว่า "เครือข่ายโรงเรียนไทยไท" และได้ร่วมกันพิจารณาถึงโอกาสการปฏิรูปการศึกษารอบที่สองนี้ว่า เป็นจังหวะที่เหมาะสมที่จะผลักดันให้การจัดการศึกษาบรรลุเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. ในประเด็นการยกระดับคุณภาพผู้เรียน (คิดเป็น ทำเป็น สื่อสารเป็น) โดยเปิดทางเลือกระบบการศึกษาที่หลากหลาย

และหลุดพ้นจากการวัดและประเมินผลที่มีข้อจำกัด

ข้อเสนอและทางออก

1. ระบบการจัดการศึกษาที่หลากหลาย เปิดโอกาสให้โรงเรียนที่มีเจตนาจะส่งเสริมคุณภาพผู้เรียนตาม พ.ร.บ.ปี 2542 ได้พัฒนาหลักสูตร และการจัดกระบวนการเรียนรู้ตลอดจนเกณฑ์การวัด และประเมินผลอย่างหลากหลายเป็นของตนเอง โดยไม่ต้องอิงหลักสูตรแกนกลางหรือมาตรฐานตัวชี้วัด

2. การประเมินผลการจัดการศึกษา ภายใต้หลักสูตรของสถานศึกษาเหล่านี้ ควรร่วมกับสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) (สมศ.) เพื่อกำหนดแนวทางการประกันคุณภาพที่ได้มาตรฐาน และการรับรองการจบการศึกษาระดับต่างๆ

3. การสอบเข้าเพื่อศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา เปิดโอกาสให้สถานศึกษาเหล่านี้ทำความตกลงร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ เพื่อพัฒนาการทดสอบที่หลากหลาย เช่น การใช้ Portfolio การนำเสนอผลงานและการสัมภาษณ์ การตรวจสอบรายงานผลการเรียน (Transcript) ที่เน้นการประเมินผลตามจริง (Authentic Assessment) หรือ โครงการพิเศษอื่นๆ เช่น "เด็กปัญญาเลิศ" เป็นต้น ทั้งนี้ โดยมีข้อยกเว้นไม่ต้องผ่านการสอบวัดผลรวม (Gpax, GAT/PAT)

4. การจัดประเภทสถานศึกษาตาม พ.ร.บ. ปี 2542 เพื่อให้กลุ่มการศึกษาทางเลือกใหม่เหล่านี้สามารถดำเนินการตามแนวทางทั้ง 3 ประการข้างต้นได้อย่างถูกต้องตาม พ.ร.บ.จึงเห็นควรกำหนดให้สถานศึกษาเหล่านี้จัดอยู่ในประเภท "การศึกษาตามอัธยาศัย" ตามที่ พ.ร.บ.ได้กำหนดไว้ว่า

เป็นการศึกษาที่ ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจ ศักยภาพ ความพร้อม และโอกาสโดยศึกษาจากบุคคล ประสบการณ์ สังคม สภาพแวดล้อม สื่อหรือแหล่งความรู้อื่นๆ

ไม่มีความคิดเห็น: